Children of the Sea 2019
รีวิว Children of the Sea รุกะผจญภัยโลกใต้ทะเล
Children of the Sea หรือในชื่อไทยคือ รุกะผจญภัยโลกใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ซึ่งทางญี่ปุ่นได้คัดเลือกส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ของปีนี้ครับ ซึ่งนั่นการันตีได้ 2 อย่างว่าควอลีตี้ดีแน่นอนกับอาจจะเป็นงานที่เสพย์ได้ไม่ง่ายนัก เพราะแทบจะแปะยี่ห้อ “หนังรางวัล” มาตั้งแต่ก่อนฉายเสียด้วยซํ้า รีวิว Children of the Sea รุกะผจญภัยโลกใต้ทะเล และ ดูหนังออนไลน์
เรื่องย่อ
รุกะ เด็กสาวมัธยมต้นที่ มีปัญหากับเพื่อนร่วมชมรมแฮนด์บอลตั้งแต่วันแรกของวันหยุดฤดูร้อน รุกะจึงไปที่อควาเรียมที่เป็นที่ทำงานของพ่อ ในขณะที่เธอกำลังยืนอยู่หน้าอควาเรียมขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยฝูงปลาเธอก็ได้พบกับพี่น้องปริศนา อุมิ และ โซระ “พวกเขาถูกเลี้ยงดูโดยฝูงพะยูน” พ่อของรุกะบอกเธอแบบนั้น รุกะ อุมิ และ โซระ มีความสามารถสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตในทะเลได้ ในเวลาเดียวกันก็มีอุกกาบาตตกลงมา และเกิดปรากฏการที่ปลาหายไปจากท้องทะเล ทั้งสามจึงร่วมมือกันออกผจญภัยไปในโลกใต้สมุทร เพื่อปกป้องเหล่าสัตว์น้ำจากมหันตภัย
Children of the Sea (海獣の子供, Kaijû no kodomo) คืออีกหนึ่งผลงานดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกัน เจ้าของรางวัลยอดเยี่ยมจากเวที Japan Cartoonists Association Award ปี 2009 ของ อาจารย์อิงาราชิ ไดสุเกะ (Igarashi Daisuke) ที่ถูกถ่ายทอดมาสู่ผลงานแอนิเมชันขนาดยาวโดยผู้กำกับ วาตานาเบะ อายูมุ (Watanabe Ayumu)
เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทแอนิเมชันทางโทรทัศน์เวที Tokyo Anime Award 2014 จากแอนิเมชันเรื่อง สองสิงห์อวกาศ Space Brothers (Uchû kyôdai) และยังเคยกำกับแอนิเมชันหนังใหญ่อย่าง Doraemon the Movie: Nobita’s Dinosaur (2006) หรือ โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ ด้วย ครั้งนี้อิงาราชิได้ร่วมงานกับค่ายสตูดิโอใหญ่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง Studio 4°C ที่มีผลงานสุดแนวและโด่งดังในวงการแอนิเมชันโลกอย่าง The Animatrix (2003) และ Tekkonkinkreet (2006) จึงไม่ยากที่จะดึงยอดฝีมือในแต่ละสาขามาร่วมสร้างสรรค์งานในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้บทหนังที่ได้อาจารย์อิงาราชิเจ้าของผลงานมังงะมาทำหน้าที่ช่วยดูแลใกล้ชิด และด้วยความเคารพต่อต้นฉบับอย่างยิ่งเราจะเห็นว่าผู้กำกับวาตานาเบะกับทางสตูดิโอสามารถถ่ายทอดลายเส้นที่แปลกตาและละมุนใจได้อย่างไม่ทิ้งเส้นต้นฉบับเลย ตรงนี้ต้องชื่นชมนะครับ เพราะหลายครั้งแล้วที่เรามักพบว่าเมื่อมีการดัดแปลงมังงะมาทำแอนิเมชัน
ถ้าลายเส้นไม่ถูกฝืนก๊อปจนเพี้ยน ก็มักจะถูกเอกลักษณ์ลายเส้นของค่ายสร้างแอนิเมชันกลืนกินจนไม่เหลือเค้าเดิมไปเลย เอาว่ากันตรง ๆ ถึงเนื้อหามันจะล้ำเกินความเข้าใจบ้างแต่เทคนิคงานสร้าง ภาพเอฟเฟกต์ สองมิติ สามมิติ สีแสง มุมกล้อง คือดีมาก ไอเดียดีมาก ตั้งใจทำดีมากเลยทีเดียว
ความใส่ใจนี้ต้องชื่นชมไปถึงการทำข้อมูลพรีโพรดักชันอย่างหนักของทีมงาน เพื่อความถูกต้องของงานภาพใต้ทะเลจึงยังมีการค้นคว้าข้อมูลจากทั้งศูนย์วิจัยทางทะเลญี่ปุ่น (JAMSTEC) และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของญี่ปุ่นมาใช้ประกอบในฉากคีย์หลักของเรื่องด้วย และเมื่อรวมกับจินตนาการกว้างไกลสุดกู่ของอาจารย์อิงาราชิ
ต้องยอมรับว่าหนังได้สร้างประสบการณ์สมสู่ระหว่างศิลปะและไซไฟปรัชญาจนเป็นเนื้อเดียวกัน คือต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังเด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดีแต่อย่างใดเลย ด้วยเนื้อหาที่ทิ้งช่องว่างระหว่างบรรทัดให้ใช้รอยหยักของสมองเติมเต็มเชื่อมโยงหาคำตอบหาเหตุผลมาใส่เอง ตอนจบของหนังจึงได้ยินแต่เสียงอื้ออึงงุนงงของแฟนแอนิเมชันที่มาชม
แต่ถ้าเราตั้งรับให้ถูกก่อนดูหนังเรื่องนี้มันจะพบแต่ความเจ๋ง ความคูล ในแบบเดียวกับที่เราต้องเตรียมจิตเตรียมปัญญาก่อนไปชมหนังอย่าง Arrival (2016) หรือ 2001: A Space Odyssey (1968) หรือแม้แต่ Interstellar (2014) รวมถึง The Tree of Life (2011) คือถ้าตั้งเข็มก่อนชมถูกว่าเรากำลังไปชมหนังไซไฟที่ผสานปรัชญาอวกาศ การกำเนิดจักรวาล ความหมายแห่งชีวิต
การค้นหาตัวตน และการก้าวพ้นวัยผ่านปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ด้วยลายเส้นดั่งงานแคนวาสฝั่งตะวันตก ผสานเทคนิคแอนิเมชันแบบฝั่งตะวันออกด้วยแล้ว เชื่อว่ามันคือความแจ่มแมว แจ่มมหาสมุทรมาก ๆ เรื่องหนึ่งเช่นกัน
หนังพาผู้ชมเดินทางผ่านสายตาอันอ่อนประสบการณ์ชีวิตของ รุกะ ที่เผชิญวันแย่ ๆ ในช่วงฤดูร้อนจากการขาดคนเข้าใจทั้งครอบครัว ทั้งเพื่อน จนกลายเป็นเด็กแสดงออกทางอารมณ์แบบก้าวร้าว เธอได้พบกับช่วงเวลามหัศจรรย์กับการพบเจอสองพี่น้อง โซระ (ท้องฟ้า) และอุมิ (ทะเล) ที่ชายหาด ซึ่งทั้งสองดั่งมนุษย์ที่อยู่อีกโลกหนึ่ง ราวกับถือครองพลังและความลับต่าง ๆ ไว้มากมาย เช่นการล่วงรู้การมาเยือนของอุกกาบาตที่เรียกว่าลูกไฟวิญญาณ
การรับรู้เสียงเพลงพิเศษของวาฬประหลาดที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันคือคลื่นความถี่ของการสิ้นอายุไขของดวงดาว การเจรจากับฝูงปลาและพูดคุยใช้ชีวิตใต้น้ำได้อย่างเสรี รุกะเองก็เหมือนจะค้นพบว่าตนเองก็มีความพิเศษบางอย่างซ่อนอยู่จากการชักนำของสองพี่น้อง ทว่าแท้จริงการมีอยู่ของสองพี่น้องโซระ-อุมิ กลับถูกจับตามองจากผู้ใหญ่และผู้มีอิทธิพลทั่วโลก
ในฐานะตัวตนที่แปลกประหลาดเป็นผู้มาเยือนที่จะส่งผลกระทบอย่างมากไม่ว่าอยู่หรือหาหนทางกลับบ้าน เป็นหน้าที่ของรุกะที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนใหม่ของเธอทั้งสองในการผ่านอุปสรรคต่าง ๆ แม้ว่ากำแพงนั้นคือพลังตรัสรู้ระดับคอสมิกก็ตาม
นี่คือพยายามเล่าแบบไม่สปอยล์และช่วยทำการบ้านก่อนไปรับชมมากที่สุดแล้วนะครับ 55 คิดเอาเองละกันว่าถ้าไม่เตรียมใจ คิดว่าดูแอนิเมชันเด็ก ๆ ช่วยกันกู้โลกมีความแฟนซีและแอ็กชันจะเกิดอะไรขึ้น
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือด้านดนตรีประกอบก็สามารถจูงใจให้ ฮิซาอิชิ โจ (Hisaishi Joe) นักประพันธ์ดนตรีประกอบหนังของจิบลิสตูดิโอกลับมาสู่วงการได้หลังจากห่างหายไปนานหลายปี และผลลัพธ์ที่ได้คืองานภาคดนตรีประกอบ ตลอดจนการดีไซน์เสียงประกอบต่าง ๆ มันเพิ่มรสนิยมในการฟังได้โขอยู่ ยังไม่นับว่าเพลงประกอบ Spirits of the Sea ที่ได้ศิลปินใหม่ผลงานแรงชาวญี่ปุ่นที่มีเอ็มวีที่ยอดชมถึง 100 ล้านวิวมากที่สุดอย่าง โยเนสึ เคนชิ (Yonezu Kenshi) มาทำเพลงให้ด้วยนั้น ก็ถ่ายทอดเรื่องราวทะเล จิตวิญญาณ และกาลอวกาศมาได้อย่างทรงพลังด้วย
ทีมพากย์เด็กก็น่าชื่นชมไม่แพ้กันโดยเฉพาะ น้องอาชิดะ มานะ (Ashida Mana) ที่มาพากย์บทนำรุกะ ซึ่งเธอก็คือเด็กหญิงลูกของคุณครูยูโกะในหนังดราม่าล้างแค้น Confessions (2010) นั่นเอง เรียกว่าผ่านผลงานทั้งในญี่ปุ่นทั้งฮอลลีวูดมาหมดแล้ว และสำหรับเรื่องนี้เธอก็ถ่ายทอดความไร้เดียงสาของวัยรุ่นที่มากมวลด้วยอารมณ์สับสน และฉากดราม่าก็ทำได้ดีเกินวัยไปแล้ว ในขณะที่ดาราดังที่มาร่วมพากย์ก็ยังมีขวัญใจแม่ยก วิน โมริซากิ (Win Morisaki) ที่เคยรับบทไดโตะในหนัง Ready Player One (2018) และ อาโออิ ยู (Aoi Yû)
มีแฟนคลับในบ้านเรามากมายที่ติดตามมาจากหนังของอิวาอิ ชุนจิ เรื่อง All About Lily Chou-Chou (2001) และ Hana & Alice (2004) ด้วย เอาเป็นว่าที่ร่ายมาทั้งหมดอยากให้เห็นว่า หนังเรื่องนี้ทำออกมาโดยมุ่งหวังเกรดคุณภาพระดับสูงสำหรับงานแอนิเมชันจริง ๆ ไม่แปลกที่มันเข้ารอบ 32 เรื่องสุดท้ายของเวทีออสการ์ สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมปีนี้ด้วย ก็ร่วมเอาใจช่วยหนังเรื่องนี้จากเอเชียด้วยแล้วกันนะครับ
สรุป
Children of the Sea ไม่ใช่งานที่ทุกคนจะชอบ หรือรับชมได้อย่างสบายอกสบายใจทุกเพศทุกวัย มันรีดเร้นพลังงานในการตีความระหว่างดูในระดับสูง แต่งานภาพระดับมหากาฬจะดึงคุณให้ตราตรึงอยู่กับหน้าจอได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เสริมทับด้วยเพลงประกอบที่สอดแทรกเข้ามาสร้างอารมณ์ร่วมให้กับเน้อเรื่องได้อย่างถูกจังหวะจะโคน ไพเราะเพราะพริ้งไม่เสียชื่อลุง โจ ฮิซาอิชิ มือคอมโพเซอร์ตำนานแห่งจิบลี จน หนังออนไลน์ ต้องยํ้าอีกครั้งว่าแม้จะดูยากไปสักหน่อย แต่ก็ค่อนข้างเชียร์ เพราะอย่างน้อยแค่งานด้านภาพก็จัดว่าคุ้มเอาการแล้วครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น